ข้อมูลโรคอัณฑะบิดตัว (Testicular torsion)อัณฑะบิดตัว หมายถึง ภาวะที่สายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) มีการบิดตัวหมุนรอบตัวเอง ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงอัณฑะ เกิดอาการปวดอัณฑะ หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจทำให้เนื้อเยื่ออัณฑะตายได้ มักพบที่อัณฑะข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา
พบได้ในผู้ชายทุกช่วงอายุ พบบ่อยในช่วงอายุ 12-18 ปี พบน้อยในคนอายุมากกว่า 25 ปี บางครั้งอาจพบในทารกช่วงขวบแรกได้
นอกจากนี้ อาจมีประวัติว่ามีญาติผู้ชายในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย
สาเหตุ
เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้อัณฑะไม่เกาะแน่นกับผนังด้านในของถุงอัณฑะ อัณฑะจึงสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดการบิดตัวของอัณฑะยังไม่ทราบแน่ชัด
พบว่าผู้ป่วยบางรายมีพ่อ พี่ชาย น้องชาย หรือบุตรชายเป็นโรคนี้ด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าภาวะนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดอัณฑะข้างหนึ่งอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการปวดที่ตรงกลางท้องน้อย อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
บางรายอาจมีอาการปวดเกิดขึ้นตอนกลางคืนจนทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติ ไม่มีอาการแสบขัดหรือถ่ายกะปริดกะปรอย
ภาวะแทรกซ้อน
เนื้อเยื่ออัณฑะขาดเลือดตายภายใน 6-12 ชั่วโมง หลังจากเกิดการบิดตัวของสายรั้งอัณฑะ อาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือมีบุตรยากได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
อัณฑะที่บิดตัวจะมีอาการอักเสบ บวม กดเจ็บ และยกขึ้นสูงกว่าระดับปกติหรือทำมุมผิดจากปกติ
บางรายอาจพบมีไข้
แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขภาวะบิดตัวของอัณฑะ และป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำในภายหลังอีก
การผ่าตัดจะต้องทำภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ หากปล่อยทิ้งไว้จนอัณฑะตาย ก็อาจต้องผ่าตัดอัณฑะออกไป
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดอัณฑะรุนแรงหรือเกิดขึ้นฉับพลัน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นอัณฑะบิดตัว ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
หลังจากแพทย์รักษาด้วยการผ่าตัด รอยแผลผ่าตัดมีอาการอักเสบ แดงร้อน หรือมีเลือดออก
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้มีความผิดปกติโดยกำเนิด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
สำหรับผู้ที่มีญาติผู้ชายที่เป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดซ่อมแซมให้อัณฑะเกาะแน่นกับถุงอัณฑะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัณฑะบิดตัวตามมาในอนาคต
ข้อแนะนำ
อาการอัณฑะบวมอาจมีสาเหตุจากไส้เลื่อน ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ อัณฑะอักเสบ มะเร็งอัณฑะ และอัณฑะบิดตัว
ผู้ที่อยู่ ๆ มีอาการอัณฑะข้างหนึ่งปวดและบวมซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันและอย่างต่อเนื่องไม่ทุเลา และอัณฑะข้างที่ปวดยกขึ้นสูงกว่าระดับปกติหรือทำมุมผิดจากปกติ ควรนึกถึงโรคอัณฑะบิดตัวและรีบไปพบแพทย์ทันที