ทำบุญไหว้พระลำพูน แนะนำ 20 วัด ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรเสริมสิริมงคลลำพูน จังหวัดขนาดกะทัดรัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังคำขวัญที่ว่า พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี ศรีหริภุญชัย … อีกทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวี ทำให้หากได้ไปเที่ยวลำพูน หลายคนมักไปสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย หรือสักการะกู่ช้างกู่ม้า แต่จริง ๆ แล้วดินแดนถิ่นล้านนาแก่าแก่แห่งนี้ ยังมีวัดวาอาราม ทั้งงดงามและมีสิ่งศักดิ์ให้ได้ไปกราบไหว้อยู่อีกมากมาย วันนี้เราเลยรวมสถานที่ไหว้พระลำพูน ในอำเภอต่าง ๆ มาแนะนำกัน ไปดูสิว่ามีที่ไหนบ้าง
1. วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนมายาวนานหลายร้อยปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบ 4 ด้าน ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลำพูน หริภุญไชย และถนนคนเดินลำพูน เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ในอดีตนิยมเรียกว่า วัดเจดีย์หลวง มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระธาตุหริภุญไชย เจดีย์ทรงล้านนา หุ้มแผ่นทองจังโกทั้งองค์ สูงประมาณ 92 ศอก มีฐานเป็นบัวลูกแก้วย่อเก็จ แล้วจึงเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ซึ่งรองรับองค์ระฆังกลมสีทอง มีความเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุประจำปีระกา หากผู้ที่เกิดปีนี้ได้มากราบไหว้ขอพรก็จะเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต และในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี
การกราบบูชาพระธาตุหริภุญชัย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง หริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐัง สะหะอังคุลิฏฐิง
กัจจายะเนนานีตะ ปัตตะปูรัง สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ
ข้าพเจ้าขอน้อมเศียรเกล้าของข้าพเจ้านอบน้อมพระธาตุอันเป็นพระเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือ พระอัฐิเบื้องพระธารพระโมลีอันประเสริฐ พระอัฐิเบื้องพระทรวงอันประเสริฐสุด กับทั้งพระอัฐิพระองคุลี และพระธาตุย่อยเต็มบาตรหนึ่งอันพระกัจจายนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทาในกาลทุกเมื่อแล
ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่งทุกชาติไป ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยผลบุญแห่งการบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยความเลื่อมใส พึงเป็นปัจจัยแด่พระนิพพาน ขออุทิศกุศลผลบุญให้แด่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ผู้ประพฤติธรรมอันสมควรค่าแก่ธรรม ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบ ในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านดังกล่าวนามมานั้น จงมีแต่ความสุขเทอญ
ที่ตั้ง : ถนนรอบเมืองใน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
เฟซบุ๊ก : วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
Google Map : วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
2. วัดมหาวันวนาราม พระอารามหลวง (พระรอด)
วัดเก่าแก่ของลำพูนที่มีอายุยาวนานถึง 1,300 ปี ตั้งอยู่ที่ถนนจามเทวี ห่างจากอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีประมาณ 1 กิโลเมตร มีชื่อเต็มคือ วัดมหาวันวนาราม เป็นอีกหนึ่งในอดีตเป็นอารามหลวงในสมัยพระนางจามเทวี และเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์วัดมหาวัน ซึ่งบรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่าพระรอดองค์นี้มีความสักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีและคุ้มครองผู้ที่ไปกราบไหว้บูชาให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายและความวิบัติต่าง ๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม รวมถึงให้โชคลาภอีกด้วย สมัยก่อนที่นี่เป็นที่ปลุกขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและเหล่าทหารที่ต้องสู้รบในยามศึก ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านทั่วไป
คำกล่าวบูชาพระรอด
อิมัง พุทธะสักขีปะฏิมัง อะภิชะยามะ
อะยัง พุทธะปะฏิมายะ ปูชะนัสสะ
อานิสังโส อัมหากัง ทีฆะรัตตัง
หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาอย่างยิ่ง ซึ่งพระพุทธสักขีปะฏิมา (พระรอด) นี้
ขออานิสงส์แห่งการบูชาซึ่้งพระพุทธสักขีปะฏิมานี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานฯ
ที่ตั้ง : ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
เฟซบุ๊ก : วัดมหาวัน จ.ลำพูน พระรอดหลวง
Google Map : วัดมหาวันวนาราม
3. วัดสันป่ายางหลวง
วัดสวยที่ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง ไม่ไกลจากตลาดเทศบาลเมืองลำพูนและสำนักงานเทศบาลเมืองลำพูน เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1074 ประดิษฐานพระอัฐิธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอายุที่ยาวนานกว่าพันปี ทำให้วัดแห่งนี้ต้องผ่านพ้นหลายยุคหลายสมัย สถาปัตยกรรมของที่นี่จึงได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายวัฒนธรรม มีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างสวยสดงดงาม และที่โดดเด่นที่สุดคือ ศิลปะแบบหริภุญชัยแท้ ๆ อย่าง พระวิหารพระโขงเขียว หรือพระวิหารพุทธรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย (พระหยกเขียวจากแม่น้ำโขง) มีการแกะสลักลายปูนปั้นไว้ในพระวิหารอย่างสวยงาม แม้กระทั่งมุมหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาด้านต่าง ๆ รวมไปถึงเสาพระวิหารก็จะแกะสลัก ลงรักปิดทองไว้ และใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากประเทศลาว เมียนมา และไทยในการสร้าง นอกจากนี้ในอดียยังใช้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระนางจามเทวีด้วย จึงถือเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดลำพูนที่ควรไปสักการะสักครั้ง
คำกราบไหว้บูชาเจ้าแม่จามเทวี
ยา เทวี จะมะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา
พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา สา อตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ
จะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ, อะหัง หะริภุญชะยานะคะระ
วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะ สุขัง อุปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ
เจตะสา ตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทาฯ
สถานที่ไหว้พระลำพูน
ภาพจาก : Bangprikphoto / Shutterstock.com
ที่ตั้ง : ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
เฟซบุ๊ก : วัดสันป่ายางหลวง ลำพูน
Google Map : วัดสันป่ายางหลวง
4. วัดจามเทวี
วัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนา ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากวัดมหาวันวนารามเพียง 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 มีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง 5 ชั้น ฐานกว้าง 15.25 เมตร ความสูง 21 เมตร แต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนอยู่เป็นชั้น ๆ ภายในบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่า เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของพระนาง เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ แต่หายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า กู่กุด หรือชื่อทางการว่า พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ นอกจากนี้ยังมี รัตนเจดีย์ อยู่ด้านขวาของวิหาร รวมถึงมีกู่ที่บรรจุอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัย และสถานที่พระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489
คาถาบูชาพระแม่จามเทวี
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ยา เทวี จะมะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา
พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา สา อตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ
จะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ, อะหัง หะริภุญชะยานะคะระ
วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะ สุขัง อุปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ
เจตะสา ตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทาฯ
ที่ตั้ง : ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
Google Map : วัดจามเทวี
5. วัดพระยืน
วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำพูน มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ตั้งอยู่บ้านพระยืน ตำบลเวียงยอง ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอเมืองลำพูน โดยหลังจากที่พระนางจามเทวีขึ้นครองเมืองได้ 8 ปี ได้สร้างวัดนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1213 เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระสังฆเถระที่ติดตามมาจากเมืองละโว้ มีชื่อว่า วัดอรัญญิการาม แต่บ้างก็ว่า พระเจ้าอัมมิกราช กษัตริย์หริภุญชัยเป็นผู้สร้างขึ้น สิ่งสำคัญภายในวัด คือ พระเจดีย์ทรงมณฑป มีพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 ทิศ เครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเป็นประธาน คล้ายกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกามและเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ให้ได้สักการะ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าทันใจ ท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น
คำไหว้พระธาตุเจดีย์วัดพระยืน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สังเว จะเจติยัง กะกุสันทัง โกนาคะมะนัง
กัสสัปปัง โคตะมัง ศรีอริยะเมตตะยัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทา
ข้าพเจ้าขอน้อมพระเจดีย์อันประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
อันประกอบด้วย พระกะกุสัมโท พระโกนาคะมะโน พระกัสสะโป พระโคตะโม พระศรีอริยะเมตไตย
ขอจงประทานพร บารมีปกป้องคุ้มครองข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเทอญ
สถานที่ไหว้พระลำพูน
ที่ตั้ง : บ้านพระยืน หมู่ที่ 1 ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
Google Map : วัดพระยืน
6. วัดพระคงฤาษี
วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัย ตั้งอยู่ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลเหมืองง่า ห่างจากศาลเจ้าแม่จามเทวีไม่เกิน 1 กิโลเมตร เดิมชื่อ วัดอาพัทธาราม พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้น เป็นหนึ่งในจำนวน 4 วัด เพื่อเป็นจตุรพุทธปราการ เมื่อปี พ.ศ. 1223 ประจวบกับก่อนหน้านี้มีฤาษี 2 ตน คือ พระสุเทวฤาษี และ พระสุกกทันตฤาษี ได้พบกัน ณ วัดแห่งนี้ เพื่อปรึกษาหารือในการสร้างหริภุญชัยนคร และเนื่องจากมีผู้พบพระพิมพ์เนื้อดินเผา เรียกว่า พระคง (พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองลำพูน) ที่วัดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และเชื่อกันว่าเป็นพระคงที่ฤาษี 2 ตนนี้สร้างไว้ จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดพระคงฤาษี อีกทั้งตามตำนานยังเล่าว่า วาสุเทพฤาษี ได้ใช้ไม้เท้ากรีดพื้นเพื่อเขียนแผนผังเมืองลำพูนตรงพระเจีดย์นี้ พระนางจามเทวีจึงทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม แล้วให้นายช่างแกะสลักเป็นรูปพระฤาษีทั้ง 4 ตนไว้ แต่ละตนถือไม้เท้าในมือ รูปปั้นแกะสลักฤาษีสร้างด้วยศิลาแดง เมื่อทำเสร็จได้นำไปบรรจุไว้ภายในซุ้มประตูทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์ โดยทางทิศเหนือเป็นรูปวาสุเทพฤาษี ทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมฤาษี ทิศตะวันตกเป็นรูปของพระสมณนารคฤาษี และทิศใต้เป็นรูปของสุกกทันตฤาษี
คำบูชาพระคงฤาษี
ฤ ฤ ฤาฤา ฤ ฤ ฤา ชาฤาษี นารอด
ฤาษีร้อยแปดประสิทธิเม
ที่ตั้ง : ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
Google Map : วัดพระคงฤาษี
7. วัดดอยติ
วัดสำคัญที่ตั้งอยู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าสัก ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2025 ไฮไลต์โดดเด่นคือ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยหลังจากพิธีพระราชทานเพลิงสรีระ ณ วัดจามเทวี ได้จัดสร้างสถูปหรือกู่บรรจุอัฏฐิไว้ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา
คำไหว้ครูบาศรีวิชัย
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร
อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห
ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม
อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา
อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ
ที่ตั้ง : บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
เฟซบุ๊ก : วัดดอยติ
Google Map : วัดดอยติ
8. วัดพระพุทธบาทตากผ้า
ปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง ระหว่างดอยม่อนช้างกับดอยเครือ ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกพร้อมด้วยสาวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนถึงบริเวณนี้ ได้รับสั่งให้นำจีวรที่ซักระหว่างทางออกมาตากบนหน้าผาหิน จากนั้นจึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาท ประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาด ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่ บนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ เป็นศิลปะที่ผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาค 469 ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชิงดอย นอกจากนี้ผู้คนยังนิยมไปไหว้ ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้าด้วย
ทั้งนี้ เมื่อถึงวันอัฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือนแปด ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่วัดจะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี
ที่ตั้ง : เลขที่ 279 หมู่ 6 ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
เฟซบุ๊ก : วัดพระพุทธบาทตากผ้า
Google Map : วัดพระพุทธบาทตากผ้า
9. วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว
วัดในอำเภอป่าซาง ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเรือน ไม่ไกลจากวัดเกาะกลาง (โบราณสถานที่มีความเก่าแก่ของลำพูน) เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระเจ้าตาเขียว หรือ พระพุทธปฏิมาพระเนตรเขียว พระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ ปางนั่งขัดสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 13 ศอก สูง 18 ศอก พระเนตรมีสีเขียว (ตามตำนานเล่าว่าเป็นแก้วมรกตมณีนิลจากแดนทิพย์ของพระอินทร์) การสร้างพระพุทธรูปนี้เริ่มสร้างเมื่อเดือนขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 1235 เสร็จสมบูรณ์ เดือนยี่แรม 5 ค่ำ ปีพ.ศ. 1235 โดยสร้างครอบอุโมงค์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ (อุโมงค์ดังกล่าวอยู่ใต้พื้นพระพุทธรูปปัจจุบันนี้) นิยมไปไหว้ขอพรในเรื่องต่าง ๆ บริเวณหน้าด้านของพระวิหารจะมีรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณอยู่ด้านซ้าย และรูปปั้นท้าวกุมภัณฑ์อยู่ทางด้านขวาให้ได้สักการะกันด้วย
ที่ตั้ง : ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.
เฟซบุ๊ก : วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว
Google Map : วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว