ปากแหว่งเพดานโหว่ สามารถจัดฟันได้หรือไม่เชื่อว่ามีหลายๆท่านเกิดความสงสัยว่าหากเป็นปากแหว่งเพดานโหว่จะสามารถจัดฟันได้หรือไม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำถามที่พบมากขึ้นสำหรับการรักษาทางทันตกรรม แต่ถึงอย่างไรก็ตามควรต้องทำความเข้าใจก่อนอย่างหนึ่งว่า โรคปากแหว่งเพดานโหว่ จำเป็นที่จะต้องทำการรักษาด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางร่วมมือกัน เช่น ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ช่องปาก ศัลยแพทย์ตกแต่ง และกุมารแพทย์ เป็นต้น
ซึ่งในวันนี้ทางด้าน Clinic จะขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก และแนวทางในการรักษา รวมถึงคำถามที่มีคนถามเยอะมาก คือ ผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่สามารถจัดฟันได้หรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปากแหว่งเพดานโหว่ คืออะไร ?
โรคปากแหว่งเพดานโหว่ คือ ความผิดปกติบริเวณช่องปากและใบหน้าตั้งแต่กำเนิด โดยจะมีรอยแยกที่บริเวณริมฝีปากด้านบน กระดูกเบ้าฟันและเพดานปาก
โดยเกิดจากความบกพร่องของการเชื่อมส่วนยื่นเพดานปากด้านข้าง ผนังกลางจมูก และส่วนเพดานปากกลาง
ปัญหาที่พบในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ?
ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ถือว่าเป็นโรคที่มีความเกี่ยวเนื่องกับช่องปากโดยตรง จึงอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและอื่นๆได้ง่ายขึ้น โดยปัญหาที่มักพบบ่อยในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มีดังต่อไปนี้
– ฟันขาดหายไปบางส่วน และฟันที่ขึ้นมานั้นจะขึ้นผิดที่ผิดตำแหน่ง
– มีปัญหาต่อเนื่องจากที่ฟันขึ้นผิดปกติ คือ มีอาการสบฟันผิดปกติ ที่พบมากที่สุดคือ ฟันล่างสบฟันบน และ ฟันบนและฟันล่างไม่สบกัน
– พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก เสียงแหบ
– มีปัญหาเรื่องการดูดกลืนอาหาร
– หากเป็นช่วงวัยเด็กเล็กเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากการสำลักนม
– เสียบุคลิก มีปมด้อย ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมได้
การดูแลด้านทันตสุขภาพ ในแต่ละช่วงวัย ?
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า ปากแหว่งเพดานโหว่ คือความผิดปกติดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งในช่วงแรกเกิดนั้นจะถือว่าดูแลยากเป็นพิเศษ เนื่องด้วยสภาพจิตใจของผู้ปกครองร่วมด้วย
ในช่วงวัยแรกเกิดจนถึงประมาณ 5 เดือน ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ต้องทำการดูแลเป็นพิเศษ โดยในช่วงวัยนี้แพทย์จะให้เริ่มทำการใส่เพดานเทียม หรือ Obturator เพื่อให้ช่วยในเรื่องของการดูดกลืนในผู้ป่วยบางราย ซึ่งวิธีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากในช่วงนี้ ผู้ปกครองควรใช้ผ้าสะอาดทำความสะอาดช่องปากของเด็กรวมถึงเพดานเทียมทุกครั้งหลังจากดื่มนม เพื่อไม่ให้เกิดคราบสะสม
ในช่วงวัยตั้งแต่ 12 เดือนเป็นต้นไป ควรเริ่มทำการสอนการใช้แปรงสีฟันเบื้องต้นแต่ผู้ปกครองก็ควรแปรงให้ก่อนในช่วงแรกๆ งดอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ เช่น น้ำอัดลม ลูกอม ขนมหวาน เป็นต้น และที่ห้ามลืมเลยคือ พบทันตแพทย์เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยทุกๆ 3-6 เดือน ห้ามขาด
ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ สามารถจัดฟันได้หรือไม่ ?
ถือว่าเป็นคำถามที่พบบ่อยมากๆในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และมีผู้ป่วยหลายๆท่าน ที่ต้องการเข้ารับการรักษาโดยวิธีการจัดฟัน แต่มักถูกทันตแพทย์แนะนำว่าควรที่จะทำการปลูกถ่ายกระดูกทำตามขั้นตอนเสียก่อน ซึ่งอันที่จริงแล้วมีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากแนะนำว่า ผู้ป่วยที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ควรที่จะก้าวเข้าสู่การจัดฟันโดยเร็วที่สุด
แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ มักจะมีข้อจำกัดมากมายก่อนที่จะทำการจัดฟัน และอาจจะมีการวางแผนที่รัดกุมมากๆ หรือบางทีอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแผนในขณะที่ทำการรักษาอยู่บ่อยครั้งซึ่งผู้ป่วยจะต้องยอมรับและเข้าใจว่าทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังพยายามช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแผลการรักษาตามความเหมาะสม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ซึ่งสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ต้องการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมก็คือ ต้องมีการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายกระดูกหรือเนื้อเยื่อเหงือก รวมถึงอาจจะต้องมีการใส่ฟันในบางตำแหน่ง รวมถึงอาจจะต้องมีการจัดฟันซ้ำ หรือต้องผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ต้องขอบอกก่อนว่าข้อจำกัดเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น หรืออาจไม่เกิดขึ้นก็ได้แล้วแต่บุคคลๆไป
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่นั้นจะต้องได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันโดยเร็วที่สุด เพราะการจัดฟันจะส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วยไม่มากก็น้อยนั่นเอง