หมอออนไลน์: เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor) ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)เนื้องอกรังไข่ และถุงน้ำรังไข่ อาจอยู่ในเนื้อรังไข่หรืออยู่บนผิวของรังไข่ก็ได้ บางกรณีอาจเป็นก้อนยื่นออกจากรังไข่โดยมีก้าน (ขั้ว) เชื่อมติดกับรังไข่ พบได้ในผู้หญิงทุกวัย ส่วนใหญ่พบในวัยเจริญพันธุ์
เนื้องอกและถุงน้ำรังไข่มีอยู่หลายชนิด* ส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่ร้าย (benign) ส่วนน้อยที่เป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งมักพบในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี
สาเหตุ
เกิดจากเซลล์ของรังไข่ที่มีการแบ่งตัวเจริญอย่างผิดปกติ กลายเป็นก้อนเนื้องอก หรือเป็นถุงหุ้มที่มีน้ำหรือของเหลวบรรจุอยู่ภายใน
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
สำหรับถุงน้ำชนิดที่พบบ่อย ได้แก่ follicular cyst และ corpus luteum cyst เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการตกไข่ (ovulation) กล่าวคือ ฟอลลิเคิล (follicle) หรือถุงไข่ ซึ่งเป็นถุงเล็ก ๆ ที่บรรจุไข่ (ovum) โดยปกติจะถูกฮอร์โมนแอลเอช (LH) กระตุ้นให้เจริญจนสุกแล้วแตกออกปล่อยไข่ออกมาจากรังไข่นั้น เกิดการเจริญอย่างผิดปกติ และไม่มีการตกไข่ ทำให้กลายเป็นถุงน้ำ (follicular cyst) ขึ้นมา ส่วน corpus luteum cyst ซึ่งเป็นฟอลลิเคิลระยะหลังจากที่แตกและปล่อยไข่ออกมาแล้วและมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนนั้น บางครั้งเกิดการอุดตันที่รูแตกทำให้มีน้ำสะสมอยู่ภายในกลายเป็นถุงน้ำ ถุงน้ำทั้ง 2 ชนิดนี้ มีชื่อเรียกว่า ถุงน้ำสรีระ (physiologic หรือ functional cyst) อาจมีขนาด 5-6 ซม. ส่วนใหญ่มักจะค่อย ๆ ฝ่อตัวลงจนหายภายใน1-3 เดือน
ส่วน dermoid cyst เกิดจากเซลล์ไข่ (germ cell) ซึ่งสามารถเจริญเป็นเนื้อเยื่อทุกชนิด เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด (congenital) ถุงน้ำชนิดนี้มักพบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี มีลักษณะเป็นถุงหุ้มผนังหนามีสารข้น ๆ สีเหลืองอยู่ภายใน ประกอบด้วย ไขมัน ฟัน กระดูก และผม อาจงอกออกนอกรังไข่โดยมีก้านเชื่อมซึ่งสามารถเกิดการบิดขั้วได้ ส่วนใหญ่เป็นถุงน้ำชนิดไม่ร้าย ส่วนน้อยอาจกลายเป็นมะเร็ง
ส่วน cystadenoma เกิดจากเซลล์เยื่อหุ้มรังไข่ (epithelial cell) โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีน้ำใสบรรจุอยู่ภายใน (เรียกว่า “Serous cystadenoma”) หรือเป็นเมือกข้น (เรียกว่า “Mucinous cystadenoma”) ซึ่งอาจมีขนาดโตมากกว่า 60 ซม. อาจมีก้านเชื่อมต่อกับรังไข่ เกิดการบิดขั้วได้ และบางรายอาจกลายเป็นมะเร็งตามมาได้
อาการ
ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
บางรายอาจมีอาการแน่นท้อง รู้สึกปวดหน่วง ๆ ในท้องน้อย หรือมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศหรือถ่ายอุจจาระ
ถ้าถุงน้ำแตก หรือมีเลือดออกเข้าไปในถุงน้ำหรือช่องท้อง ก็จะมีอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรง
ในรายที่มีก้านเชื่อมต่อกับรังไข่ อาจเกิดการบิดขั้วกะทันหัน ทำให้เกิดอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรง เรียกว่า เนื้องอก/ถุงน้ำรังไข่ชนิดบิดขั้ว (twisted ovarian tumor/cyst)
หากเป็นเนื้องอกหรือถุงน้ำที่มีการสร้างฮอร์โมนก็อาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบฮอร์โมน ทำให้มีอาการประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือออกมากกว่าปกติได้ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน
ภาวะแทรกซ้อน
เนื้องอกหรือถุงน้ำที่เป็นก้อนโตอาจกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ (ทำให้มีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะที่ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที ปัสสาวะบ่อย) ทวารหนัก (ทำให้ท้องผูก) ถุงน้ำอาจแตก เลือดออก หรือมีการบิดขั้วทำให้ปวดท้องฉับพลันรุนแรง ตกเลือดภายในและอาจมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากเคมี (chemical peritonitis) เป็นอันตรายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายใน ทำการตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy) ในรายที่ต้องการแยกสาเหตุของมะเร็งรังไข่ อาจทำการตรวจระดับ cancer antigen 125 (CA125) ในเลือด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าถุงน้ำมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 5 ซม. และไม่มีอาการปวดท้องมาก แพทย์ก็จะนัดผู้ป่วยมาตรวจดูอาการเป็นระยะ ๆ โดยไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ และถ้าเป็นถุงน้ำสรีระจะค่อย ๆ หายได้เองภายใน1-3 เดือน
แต่ถ้าก้อนโตมากกว่า 5 ซม. หรือมีอาการปวดท้องมาก หรือสงสัยเป็นมะเร็งรังไข่ ก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ตกเลือดมาก เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน) ก็อาจต้องผ่าตัดฉุกเฉิน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการแน่นท้อง รู้สึกปวดหน่วง ๆ ในท้องน้อย หรือมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศหรือถ่ายอุจจาระ หรือมีอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกรังไข่/ถุงน้ำรังไข่ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
มีอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรง
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกลายเป็นรุนแรงด้วยการดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ข้อแนะนำ
มะเร็งรังไข่ที่มีก้านต่อกับรังไข่ ก็อาจมีอาการปวดท้องรุนแรงแบบเดียวกับถุงน้ำรังไข่ชนิดบิดขั้วได้เช่น
กัน ในการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน
ถ้าเป็นมะเร็งรังไข่ก็จะทำการผ่าตัดรังไข่และท่อรังไข่ออกไปด้วย ร่วมกับการให้เคมีบำบัด (ดูโรคมะเร็งรังไข่)