อาหารสุขภาพบำรุงสายตา ห่างไกลต้อกระจกต้อกระจก คือ เลนส์ตาที่ขุ่นมัว (lens opacity) ซึ่งลดประสิทธิภาพของการมองเห็น เป็นปัญหาที่พบได้ประมาณ 50% ของผู้สูงอายุ 65-74 ปี และ 70% ประชากรอายุ 75 ปีขึ้นไป โรคต้อกระจกสามารถรักษาให้หายขาดได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคต้อกระจก
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคต้อกระจก ที่ไม่สามารถควบคุมได้คือ อายุ ประวัติครอบครัว เชื้อชาติ เพศ (ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย)
แต่มีนักวิจัยพบว่าปัจจัยที่ควบคุมได้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการให้ดวงตาสัมผัสแสงแดดโดย ใส่แว่นตากันแดดและสวมหมวกปีกกว้าง ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งโภชนาการที่ดีสามารป้องกันและชะลอการเกิดโรคต้อกระจกได้
อาหารบำรุงสายตา ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก
1. อาหารที่อุดมไปด้วย วิตามิน C
มีงานวิจัยจาก National dietary study (Secondary National Health and Nutrition Examination Survey) พบว่า อาหารที่วิตามินซีสูงช่วยลดการเกิดโรคต้อกระจกได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม น้ำส้มคั้นสด มะละกอ แคนตาลูป พริกหวานยักษ์สีเขียว น้ำมะเขือเทศ สตอเบอร์รี่ บร็อคโคลี่ เกรปฟรุต
2. อาหารที่อุดมไปด้วย วิตามิน E
วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจกได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินอี เช่น อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย Safflower oil ถั่วลิสง เนยถั่ว น้ำมันข้าวโพด
3. แคโรทีนอยด์
สารแคโรทีนอยด์ที่เรียกว่า ลูทีนและซีแซนทีน ก็เป็นสารอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้เช่นกัน แหล่งอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีน เช่น ผักคะน้า ผักใบเขียวตระกูลคะน้าอื่นๆ เช่น Kale, Collard greens ผักโขม ปวยเล้ง บร็อคโคลี่ ข้าวโพดหวานสีเหลือง ถั่วลันเตา พริกหวานยักษ์สีส้ม ส้มเขียวหวาน หัวผักกาดสีเขียว (Turnip greens)
4. โอเมก้า 3
Omega -3 โดยทั่วไปแล้วนักโภชนาการแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในปลาทะเล เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าโอเมก้า 3 มีประโยชน์ในการลดอัตราการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ลดการเกิด Plaque ในหลอดเลือดและหรือลดการอักเสบของเรตินา แหล่งอาหารที่มีโอเมก้า-3 เช่น ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทู ปลาเทร้าท์ ปลาทูน่า วอลนัท แฟล็กซีด (Ground flaxseeds) เมล็ดเจีย (Chia seeds) น้ำมันเมล็ดแฟล็กซีด (Flaxseed oil) นำมันคาโนล่า (Canola oil)
สรุป “อาหารใดที่ดีต่อสุขภาพก็ดีต่อสายตาของคุณด้วยเช่นกัน” ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคทางสายตา เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น เลือกรับประทานข้าวแป้งไม่ขัดสี ผักและผลไม้หลากสีทุกมื้อ รับประทานปลาทะเลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารไขมันสูง อาหารทอด เลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันทรานส์