หมอประจำบ้าน: ถุงน้ำอัณฑะ (Hydrocele)/กล่อนน้ำปกติอัณฑะมีเยื่อหุ้มอยู่ 2 ชั้น และโพรง (ช่องว่าง) ระหว่างเยื่อหุ้มทั้ง 2 ชั้น จะมีของเหลวเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยหล่อลื่น แต่บางครั้งอาจเกิดมีของเหลวขังอยู่ในโพรงนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นถุงน้ำ เรียกว่า ถุงน้ำอัณฑะ หรือไฮโดรซีล (hydrocele) โบราณเรียกว่า กล่อนน้ำ
โรคนี้พบได้บ่อยในทารก แต่อาจพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้ทุกวัย
สาเหตุ
สำหรับทารกมักเป็นมาแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ พบว่าทารกคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ โดยเฉลี่ยพบภาวะนี้ได้ราวร้อยละ 5 ของทารกแรกเกิด และอาจมีไส้เลื่อนเกิดร่วมด้วย
สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ มักเกิดภายหลังได้รับบาดเจ็บ มีการติดเชื้ออักเสบของอัณฑะ (รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังการใช้รังสีบำบัด (โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก)
อาการ
อัณฑะบวม มีลักษณะเป็นก้อนนุ่มที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างโดยไม่ยุบหายไม่ว่าจะอยู่ในท่าใดและไม่มีอาการเจ็บปวด
ในผู้ใหญ่อาจมีความรู้สึกมีก้อนหน่วง ๆ ที่บริเวณอัณฑะ บางครั้งก้อนอาจเล็กลงตอนเช้า และกลับโตขึ้นในตอนสาย ๆ หรือช่วงบ่าย ๆ
ภาวะแทรกซ้อน
ถุงน้ำนี้มักไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด นอกจากถ้าโตมาก ๆ อาจทำให้รู้สึกเดินไม่ถนัดหรือปัสสาวะไม่สะดวก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกายพบก้อนนุ่มที่อัณฑะ เวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นโปร่งแสง ภายในจะมีของเหลวใส
ถ้าไม่แน่ใจ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ และอาจตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าถุงน้ำไม่โตมากและพบในทารก ก็ไม่ต้องทำอะไร อาจหายได้เมื่ออายุได้ราว 1 ปี
ถ้าก้อนโตมากหรือไม่ยอมยุบหาย แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด (สำหรับทารกมักทำการผ่าตัดเมื่ออายุ 12-18 เดือน)
ในรายที่ผ่าตัดไม่ได้ (เช่น ผู้สูงอายุที่อาจเสี่ยงต่อการผ่าตัด) อาจรักษาด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำออกและฉีดสารป้องกันไม่ให้กำเริบ
ผลการรักษา การผ่าตัด มักจะช่วยให้หายขาด แต่บางรายอาจกำเริบขึ้นมาได้อีก
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น อัณฑะบวม หรือมีก้อนที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นถุงน้ำอัณฑะ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ถุงน้ำอัณฑะที่พบในทารก หลังอายุ 1 ปีแล้วยังไม่ยุบ
รู้สึกปวดท้อง ปวดอัณฑะ หรือถ่ายปัสสาวะลำบาก
ในรายที่แพทย์รักษาด้วยการผ่าตัดหรือใช้เข็มเจาะดูด หลังการรักษา มีอาการปวดอัณฑะ อัณฑะบวมแดง หรือมีเลือดออก
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. สำหรับถุงน้ำอัณฑะชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิดยังไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องเพราะยังไม่ทราบสาเหตุ อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ลงด้วยการฝากครรภ์เวลาตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันทารกคลอดก่อนกำหนดซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าทารกคลอดครบกำหนด
2. สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจป้องกันด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
ป้องกันการบาดเจ็บบริเวณอัณฑะ เช่น ขณะเล่นกีฬาใช้อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บของอัณฑะ
ป้องกันการติดเชื้อของอัณฑะ เช่น ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ข้อแนะนำ
อาการอัณฑะบวมอาจมีสาเหตุจากไส้เลื่อน ถุงน้ำอัณฑะ อัณฑะอักเสบ มะเร็งอัณฑะ และอัณฑะบิดตัว
ผู้ที่อยู่ ๆ มีอาการอัณฑะข้างหนึ่งปวดและบวมซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันและอย่างต่อเนื่องไม่ทุเลา และอัณฑะข้างที่ปวดยกขึ้นสูงกว่าระดับปกติหรือทำมุมผิดจากปกติ ควรนึกถึงโรคอัณฑะบิดตัวและรีบไปพบแพทย์ทันที